รหัสและชื่อหลักสูตร
  • ภาษาไทย : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
  • ภาษาอังกฤษ : Master of Engineering Program in Environmental Engineering
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
  • ชื่อเต็ม (ไทย) : วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)
  • ชื่อย่อ (ไทย) : วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)
  • ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Master of Engineering (Environmental Engineering)
  • ชื่อย่อ (อังกฤษ) : M. Eng. (Environmental Engineering)
รูปแบบของหลักสูตร

หลักสูตรระดับ 4 ปริญญาโท ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552

การส่งเสริมการใช้ความรู้และเทคโนโลยีวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกด้านหนึ่งของการขับเคลื่อนกระบวนในการพัฒนาประเทศ โดยต้องมีการดำเนินการด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมไทย รวมทั้งการเสริมสร้างศีลธรรมและสานึกในคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในองค์ความรู้ ผลการวิจัย พัฒนาการทางวิชาชีพและทักษะในกรอบวิชาชีพขั้นสูงด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ทักษะการสังเคราะห์และประยุกต์ใช้ผลการวิจัยในการแก้ปัญหาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการร่วมกับองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และสามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในรูปแบบของสื่อต่าง ๆ ได้ พร้อมกับมีจิตสำนึกในจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดีงามสำหรับการประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทย ที่สามารถรองรับกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นผู้นำและมีความรับผิดชอบ ตลอดจนมีวินัยในตนเอง

เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีจำกัดและกระจายตัวไม่ทั่วถึง ภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในการดำเนินการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีวิศวกรหรือผู้เชียวชาญที่มีความรู้ในด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และมีการติดตามและพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ ที่มีความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะการบูรณาการองค์ความรู้ การเข้าใจบริบทของปัญหา และเงื่อนไขสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมีความเฉพาะ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีและระบบที่นำเข้าจากต่างประเทศมาแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดและมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบระบบที่มีความเหมาะสมในการใช้งานภายในประเทศเอง ดังนั้นการพัฒนาวิศวกรหรือผู้เชียวชาญที่มีความรู้ความชำนาญขั้นสูงที่มีความรู้ความเข้าใจกับสภาพปัญหาภายในประเทศได้เป็นอย่างดีในการประยุกต์ความรู้วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการปัญหา จึงมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้วิชาการที่ทันสมัย เพื่องานด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีทักษะเชิงวิศวกรรมขั้นสูงด้านการออกแบบ ควบคุม ดูแลกระบวนการ หน่วยปฏิบัติการด้านการบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ ขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และมีศักยภาพพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง งานวิจัย และปรับปรุงเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และท้องถิ่น
  2. เพื่อผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณภาพบนพื้นฐานหัวข้องานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยนเรศวร และประเทศ
  3. เพื่อให้บริการและความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาคราชการและเอกชนทั้งด้านวิชาการและการวิจัย ซึ่งต้องใช้ความรู้วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมขั้นสูง ตลอดจนการแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือในด้านความรู้ ระหว่างนักวิชาการในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (ELOs)
  1. ELO1: สามารถปฏิบัติตนภายใต้หลักการทางจรรยาบรรณทางวิชาการ วิจัย และวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์กรและสังคม
  2. ELO2: สามารถประเมินผลกระทบจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมต่อบุคคล องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม
  3. ELO3: สามารถระบุปัญหา ตั้งสมมุติฐาน และวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ
  4. ELO4: สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในการดำเนินการวิจัยอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  5. ELO5: สามารถวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลผลงานทางวิชาการ วิจัย และสิทธิบัตรจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
  6. ELO6: สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งในฐานะผู้ร่วมทีมและผู้นำทีม และมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน
  7. ELO7: สามารถใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในการค้นคว้าและสังเคราะห์ข้อมูล
  8. ELO8: สามารถสื่อสารงานวิศวกรรม วิชาการ และวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งทางการพูด และการเขียนรายงาน
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำร็จการศึกษา
  1. งานที่เกี่ยวกับวิชาการทางสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เช่น อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ เป็นต้น
  2. เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนองค์กรวิสาหกิจ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ในกรมกองต่างๆ ของรัฐ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นต้น
  3. วิศวกรสิ่งแวดล้อม
  4. ประกอบธุรกิจส่วนตัวด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม