รหัสและชื่อหลักสูตร
  • ภาษาไทย : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
  • ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Engineering Program in Civil Engineering
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
  • ชื่อเต็ม (ไทย) : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา)
  • ชื่อย่อ (ไทย) : วศ.บ. (วิศวกรรมโยธา)
  • ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Bachelor of Engineering (Civil Engineering)
  • ชื่อย่อ (อังกฤษ) : B.Eng. (Civil Engineering)
รูปแบบของหลักสูตร

เป็นหลักสูตรระดับ 2 ปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2552

ปัจจุบันโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้และเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่าง ก้าวกระโดด การศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาซึ่งอาศัยพื้นฐานจากทฤษฎีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการ ประยุกต์ใช้กฎธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาอย่างสมดุล สอดคล้อง ปลอดภัยและยั่งยืน และจาก ความเชื่อที่ว่า “อาคารที่มีฐานรากแข็งแรงย่อมก่อสร้างได้สูงและตั้งอยู่ได้นาน” หลักสูตรนี้มีปรัชญาเพื่อสร้าง ทักษะพื้นฐานให้ผู้เรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้และวิจัยอย่างเข้มข้น และสร้างสรรค์ จนผู้เรียนสามารถพัฒนา ตนเอง เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ พิจารณาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบและเสนอวิธีแก้ปัญหาในงาน ด้านวิศวกรรมโยธา ได้ด้วยตัวเอง บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี และวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล อันจะเป็นการ สร้างทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรมโยธาที่ดีและมีคุณภาพให้แก่สังคมและประเทศชาติสืบไป

หลักสูตรนี้มีปรัชญาเพื่อบ่มเพาะทักษะขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปจนผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเอง เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ พิจารณาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบและเสนอวิธีแก้ปัญหาในงานด้านวิศวกรรมโยธา บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี มีวิสัยทัศน์ พร้อมที่จะปฏิบัติงานรับใช้สังคมและประเทศชาติสืบไป สมดังปรัชญาความเชื่อที่ว่า “อาคารที่มีฐานรากแข็งแรงย่อมก่อสร้างได้สูง มีประโยชน์ และตั้งอยู่ได้นาน”

สาขาวิศวกรรมโยธา จัดเป็นสาขาแรกและเป็นสาขาพื้นฐานที่สุดในงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ มีขอบข่ายงานกว้างขวาง อาทิเช่น การก่อสร้าง การดัดแปลง การบูรณะ การรื้อถอน โครงสร้างอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสาธารณูปโภคต่างๆ การจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผนจราจรและขนส่ง การกำหนดผังเมือง การจัดการขยะมูลฝอย และงานในลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย เคยมีผู้กล่าวว่า หากงานใดไม่สามารถจัดให้อยู่ในวิศวกรรมสาขาใดๆ ได้เป็นการเฉพาะ งานนั้นคืองานด้านวิศวกรรมโยธา หลักสูตรด้านวิศวกรรมโยธายังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิต

วัตถุประสงค์

     เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ตอบโจทย์ชีวิตของผู้เรียนและผู้ปกครองที่ต้องการให้บัณฑิตมีความก้าวหน้าและความมั่นคง และเพื่อให้บัณฑิตได้ตอบแทนสังคมส่วนรวมและประเทศขาติ จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรโยธาให้มีคุณลักษณะ

  1. มีความรู้ ความสามารถและมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมโยธา มีทักษะการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายประสบความสำเร็จ
  2. มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านทักษะเฉพาะ การวิจัยและการบริหารจัดการ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ประกอบการและการลงทุน
  3. มีคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (ELOs)

     เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและสอดคล้องกับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2553) ลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์สำหรับการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (พ.ศ. 2563) อัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ.2563) และ อัตลักษณ์นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ.2563) จึงกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Expected Learning Outcome: ELO) ดังต่อไปนี้

  1. ELO1     สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พื้นฐานทางวิศวกรรม และความรู้เฉพาะทางวิศวกรรม เพื่อการแก้ไขและหาคำตอบของปัญหาทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน
  2. ELO2     สามารถระบุ ตั้งสมการ วิจัย สืบค้น และวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมที่ชับซ้อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปของปัญหาที่มีนัยสำคัญ โดยใช้ หลักการทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาการทางวิศวกรรมศาสตร์
  3. ELO3    สามารถเลือกวิธีหรือพัฒนาหาคำตอบของปัญหาทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน และออกแบบระบบงาน หรือกระบวนการตามความจำเป็นและเหมาะสมกับข้อพิจารณาทางด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม
  4. ELO4 สามารถดำเนินการสืบค้นเพื่อหาคำตอบของปัญหาทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน โดยใช้ความรู้จากงานวิจัยและวิธีการวิจัย รวมถึง การออกแบบการทดลอง การวิเคราะห์ และการแปลความหมายของข้อมูล การสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ผลสรุปที่เชื่อถือได้
  5. ELO5    สามารถสร้าง เลือกใช้ เทคนิควิธี ทรัพยากร และใช้เครื่องมือทันสมัยทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการพยากรณ์ การทำแบบจำลองของงานทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน เข้าใจถึงข้อจำกัดของเครื่องมือต่าง ๆ
  6. ELO6  สามารถใช้เหตุและผลจากหลักการและความรู้ที่ได้รับมาประเมินประเด็นและผลกระทบต่าง ๆ ทางสังคม อนามัย ความปลอดภัย กฎหมาย และวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรม ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
  7. ELO7  สามารถอภิปรายผลกระทบของคำตอบของปัญหางานทางวิศวกรรมในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถแสดงความรู้และความจำเป็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน เลือกหรือตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  8. ELO8    ปฏิบัติตนภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเสียสละ โดยยึดมั่นคุณธรรมจริยธรรม มีความกตัญญู มีสัมมาคารวะ รู้จักกาลเทศะ และสามารถใช้หลักการทางจรรยาบรรณและมีสำนึกรับผิดชอบต่อมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมและความปลอดภัย
  9. ELO9    ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วินัย มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการทำงานเดี่ยว และการทำงานฐานะผู้ร่วมทีมหรือผู้นำทีมที่มีความหลากหลายของสาขาวิชาชีพและมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  10. ELO10   สามารถสื่อสารงานวิศวกรรมที่ชับซ้อนกับกลุ่มผู้ปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมและสังคมโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิผล อาทิ สามารถอ่านและเขียนรายงานทางวิศวกรรมและเตรียมเอกสารการออกแบบงานวิศวกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล สามารถนำเสนอ สามารถให้และรับคำแนะนำงานได้อย่างชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
  11. ELO11     สามารถแสดงว่ามีความรู้และความเข้าใจหลักการทางวิศวกรรมและการบริหารงาน และสามารถประยุกต์ใช้หลักการบริหารในงานของตน ในฐานะผู้ร่วมทีมและผู้นำทีมเพื่อบริหารจัดการโครงการวิศวกรรมที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความหลากหลายสาขาวิชาชีพ สามารถแสดงออกถึงความมีวิสัยทัศน์ด้านการลงทุนและการเป็นผู้ประกอบการ
  12. ELO12     ตระหนักและเห็นความจำเป็นของการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยลำพังและสามารถเรียนรู้ตลอดชีพเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำร็จการศึกษา
  1. รับราชการ ในหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมยุทธโยธาทหารบก และ กรมชลประทาน
  2. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, การเคหะ แห่งชาติและ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัทเอกชนเกี่ยวกับการก่อสร้างและผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง
  4. อาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง, วิศวกรอิสระ