“ศักดิ์สยาม” ประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ร่วมกับพันธมิตรทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย 72 หน่วยงาน ด้านรฟท.-รฟม.เร่งหนุนบูรณาการร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภูมิภาคสนองนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ว่าเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ในการสนับสนุนส่งเสริมและใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบรางในด้านต่างๆ
โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กรมการขนส่งทางราง(ขร.) จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ร่วมกับทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายจาก 72 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรองรับด้านระบบราง สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน ผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน วัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางร่วมกับพันธมิตรทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายทั้ง 72 หน่วยงานป้อนวงการระบบรางของไทยนั่นเอง
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญที่จะยกระดับระบบรางให้เป็นรูปแบบการเดินทางและการขนส่งหลักของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลัก จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการขนส่ง ให้ครบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง โดยให้ความสำคัญในด้านระบบราง และผลักดันให้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง วิจัยและพัฒนา นวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิต ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และรถขนส่งทางราง โดยใช้วัสดุภายในประเทศ ตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จึงนับเป็น “ก้าวสำคัญ” สู่การพัฒนาด้านระบบรางของไทยอย่างยั่งยืน ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ผ่านความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมผนึกกำลังกันมากเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี และจะเป็น “ต้นแบบ” ของความร่วมมือทางด้านวิชาการที่สามารถนำไปต่อยอด กับการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อันจะช่วยให้งานวิชาการของไทยในด้านการคมนาคมขนส่งก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ด้านนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มีขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ 1) พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2) สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3) ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4) วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน 5) สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง 6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7) จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า 9) ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 11) ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569)
ทั้งนี้ภายหลังลงนามความร่วมมือแล้วภาคีทั้ง 7 ฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือต่อไป
สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในวันนี้ จะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางของไทยในอนาคตก้าวหน้าและพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีศักยภาพ สามารถสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ด้านระบบรางไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
รฟท.-รฟม. พร้อมขับเคลื่อน
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า”
โดยตามที่รฟท. มีแผนการพัฒนาปรับปรุงระบบรถไฟให้เป็นระบบรถไฟฟ้าครอบคลุมโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ รองรับการเดินทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของประเทศ และกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลพิษในด้านต่างๆ รวมถึงผลักดันการใช้พลังงานของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ
รฟท.จึงได้ร่วมกับทางสจล. ในการร่วมกันคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้วัสดุในประเทศ เพื่อให้มีรูปแบบการบริการใหม่แก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์การร่วมมือ ดังนี้ 1. แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมในการเปลี่ยนรถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถดีเซลราง จากการใช้พลังงานน้ำมันดีเซล ไปสู่ระบบรถจักรไฟฟ้า และรถไฟฟ้า จากพลังงานไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System) ระบบพลังงานทางเลือกจาก hydrogen fuel cell หรือระบบรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Electric Vehicle หรือ EV) และการใช้แบตเตอรี่ในระบบขับเคลื่อนของรถไฟ และ 2. แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับสถานีจ่ายไฟฟ้า สถานีประจุพลังงานไฟฟ้าของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
“การร่วมมือทางด้านวิชาการในครั้งนี้เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางของการรถไฟฯ ไปสู่ระบบไฟฟ้าในด้านต่างๆ ดังเช่นหลายๆ ประเทศที่ได้เริ่มมีการพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่มากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ได้มีการวิจัยในการนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนรถไฟ นอกจากจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังสอดคล้องกับแผนงานและนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบคมนาคมขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แล้วยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย”
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวถึงการทำความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สจล. จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ นำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้การดำเนินโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ของสถาบัน ในฐานะ The World Master of Innovation สู่การขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับโลก
“สจล. มีศักยภาพและมีผลงานวิจัยหลากหลายด้าน จะสามารถตอบโจทย์ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยจะเห็นได้จาก Asia University Ranking 2021 ที่จัดอันดับโดย Times Higher Education ให้สจล.ติดอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยด้านงานวิจัย (Research) ด้าน Industry Income และมีคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 5 ของไทยและภูมิภาคอาเซียน ทางด้าน Science and Tech. University ซึ่งสจล. มีความพร้อมทั้งบุคลากรและทรัพยากรและพร้อมที่ให้ความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางราง ด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า”
สอดคล้องกับนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐ พร้อมให้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ นี้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม/ฝึกงาน เพื่อสร้างบุคลากรด้านระบบรางที่มีศักยภาพสูง ด้านการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางระหว่างหน่วยงาน และด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศทดแทนการนำเข้า ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีเป้าหมายจะเปิดให้บริการในปี 2565 ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และเปิดให้บริการในปี 2568 ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในขั้นเตรียมดำเนินงานซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตามลำดับ และคาดว่าจะส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้ ตลาดแรงงานของไทยมีความต้องการบุคลากรด้านระบบรางที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมระบบรางของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงควบคู่กัน
หลายมุมมองพร้อมหนุนเต็มที่
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนระบบรางของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วจึงเกิดความต้องการบุคลากรด้านระบบรางจำนวนมากตามมา สถาบันอุดมศึกษาตื่นตัวที่จะจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อป้อนสู่วงการระบบรางให้เพียงพอ ควบคู่กับการวิจัยพัฒนาแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อกัน จึงนับว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนาระบบรางไปสู่ความยั่งยืน เป็นการรวมพลังที่จะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้นต่อไป
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะผลักดันองค์ความรู้ด้านระบบรางไปสู่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคโดยเฉพาะจังหวัดที่มีรถไฟผ่านในพื้นที่ ซึ่งหลายสถาบันพบว่ามีการจัดทำเป็นหลักสูตรเฉพาะด้านแล้วแต่ความพร้อมของแต่ละสถาบันแต่จะอยู่ในสาขาวิชาการโยธา ไฟฟ้า และเครื่องกลทั้งสิ้น สำหรับ ที่สถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบัง เองมีหลักสูตรระบบราง ป ตรี (สาขาเครื่องกล) เป็นที่แรกของประเทศและยังมีการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมโยธา ในรายวิชา วิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเป็นต้น
สำหรับในต่างจังหวัดเบื้องต้นเคยไปริเริ่มดำเนินการที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ควบคู่กันไปด้วยการจัดหลักสูตร reskill และ upskill ในด้านงานระบบรางทั้ง ด้านงานทางรถไฟ งานระบบไฟฟ้า และงานระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงมีการเรียนการสอนเรื่องการเดินรถไฟฟ้าโดยร่วมกับบริษัท บีทีเอส พบว่านักศึกษาที่เรียนจบไปสามารถเข้าสู่วงการระบบรางไม่น้อยกว่า 20 คนนอกจากนั้นวิศวกรในระบบยังไปศึกษาหลักสูตรต่อเนื่องของ วสท. ได้อีกมากมายโดยมีเปิดการเรียนมานานถึง 8 ปี รุ่นละ 1 ปีต่อ 30 คน และสำหรับ วสท มีมากกว่า 7 หลักสูตร มีวิศวกรผ่านการอบรมมากกว่า 500 คนดังนั้นหากมีโครงการก่อสร้างรถไฟในพื้นที่สามารถออกสนามร่วมทำงานกับโครงการนั้นๆได้ทันที
“ระดับวิศวกรและช่างเทคนิควงการระบบรางของไทยยังขาดแคลนแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการเปิดหลักสูตรแล้วในหลายสถาบันการศึกษาก็ตาม ซึ่งทั้งทาง สจล. และ วสท.สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ให้สถาบันต่างๆได้เป็นอย่างดีทั้งด้านวิศวะ โยธา เครื่องกล ระบบไฟฟ้าหรือระบบอาณัติสัญญาณ ครบครันทั้งระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง รถไฟระหว่างเมืองและชานเมือง รวมถึงระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ปัจจุบันบุคลากรไทยรุ่นแรกๆได้กระจายออกไปเผยแพร่ความรู้กับสถาบันต่างๆอย่างครอบคลุมมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามการเพิ่มความรู้ด้านวิศวกรรมระบบรางให้กับวิศวกรรมสาขาหลัก ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะถือเป็นเรื่องสำคัญเทียบเท่ากับการสอนเรื่องวิศวกรรมระบบถนนและรถยนต์ ที่แทบทุกมหาวิทยาลัยมีการสอนอยู่แล้ว เพื่อติดอาวุธด้านวิศวกรรมระบบรางให้ว่าที่วิศวกรไทยก่อนออกไปทำงานกับภาคส่วนต่างๆได้ต่อไป”
ผศ.ดร.ดำรงค์ อมรเดชาพล กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเร่งร่างหลักสูตรเกี่ยวกับวิศวกรรมระบบราง ในสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อเจาะลึกเรื่องการศึกษาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชี่ยวชาญและกระจายองค์ความรู้รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือเอาไว้ด้วย
หลักสูตรนี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้นโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมกับทยอยส่งบุคลากรไปอบรมความรู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องระบบรางกับสถาบันต่างๆทั้งในและต่างประเทศขณะนี้พร้อมแล้วกับการเปิดหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างครอบคลุม
“ปัจจุบันมีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือที่ทำงานวิจัยด้านระบบขนส่งทางรางทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสผ่านการสนับสนุนจากฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั้งในโซนเอเชียและยุโรป ปัจจุบันยังได้ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัยมาแล้วโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสะสมองค์ความรู้ เครื่องมือและความพร้อมของห้องปฏิบัติการวิจัยไว้เนิ่นๆ”
ผศ. ดร.กุณฑล ทองศรี กรรมการบริหารศูนย์นวัตกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่าจากนโยบายการพัฒนาระบบรางของรัฐบาลล้วนมีทิศทางชัดเจนทั้งรถไฟสายใหม่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ จะพบว่าองค์ความรู้ขยายสู่ภูมิภาคมากขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาในภูมิภาคนั้นๆจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับไว้เนิ่นๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หลักสูตรที่มีจึงต้องกำหนดมาตรฐาน ความปลอดภัย การซ่อมบำรุงไว้อย่างครอบคลุม ให้สามารถผลิตนิสิต นักศึกษาป้อนตลาดแรงงานได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพจริงๆ
ดร. ดุษฎี สถิรเศรษฐทวี หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร หลักสูตรระบบรางของม.นเรศวรจัดไว้ในสาขาวิศวกรรมโยธา ขณะนี้ยังเน้นปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยเฉพาะภาควิศวกรรมโยธา อีกทั้งยังเน้นต่อยอดงานวิจัยในระดับปริญญาโทเพิ่มเติม จากนี้ไปจะเน้นระบบรางที่จะเกี่ยวข้องกับระบบฐานราก ส่วนเครื่องกลจะดูเรื่องตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งพบว่ามีนิสิตสนใจสมัครเข้ามาเรียนหลักสูตรด้านระบบรางกันมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการปรับหลักสูตรกันทุก 5 ปีซึ่งปี 2564 ครบรอบการปรับหลักสูตรพอดีจึงจะเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วยโดยจะอ้างอิงแผนแม่บทต่างๆเพื่อจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องต่อไป